การฝังเข็มคืออะไร
การฝังเข็มเป็นเวชกรรมที่มีประวัติการค้นคว้า และแพร่หลายมาหลายพันปี การฝังเข็มคือวิธีการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการฝังเข็มปักเข้าไปยังตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายในตำแหน่งที่เป็นจุดเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษา 2 ส่วนได้แก่
1. เพื่อปรับสมดุลของร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวขึ้น ช่วยให้อวัยวะและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายกลับทำงานได้ตามปกติ ด้วยพลังธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต จึงนับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดี
2. การฝังเข็มสามารถช่วย “ระงับความเจ็บปวด” จึงมักนำไปใช้ในการรักษาโรคปวดต่างๆ หรือใช้ในการผ่าตัด
ปัจจุบันมีการนำการฝังเข็มไปใช้ในการป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีวิทยาการอื่นๆ อีกที่เกี่ยวกับศาสตร์การฝังเข็ม และมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางได้แก่ การนวดกดจุด การรมยา
การใช้เครื่องกระตุ้น เป็นต้น
การฝังเข็มเกิดผลในการรักษาอย่างไร
1.เกิดการหลั่งสารต่างๆ ในร่างกายในระบบ Neuro – endocrine และ Cytokine หลายชนิด ฮอร์โมนบางอย่าง เช่น Steroid,Endorphin,Serotonin และ Neurotransmitter ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย และกลไกของร่างกายทั้งหมด ทำให้เกิดฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด ลดการอักเสบ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ปรับปรุงการทำงานของระบบประสาท และสมอง ทำให้จิตอารมณ์แจ่มใส สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติในร่างกายตามธรรมชาติ จึงแตกต่างจากการใช้ยาที่เรารับประทานหรือฉีดเข้าร่างกาย เพราะไม่มีพิษไม่มีผลแทรกซ้อน ที่สำคัญร่างกายมีกลไกในการควบคุมอีกชั้นหนึ่ง (Negative feedback) จึงไม่มีโอกาสหลั่งสารออกมาจนเกินขนาด
2. เกิดการกระตุ้นให้มีการปรับตัวของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งควบคุมเส้นเลือดและการทำงานของอวัยวะภายในทั่วร่างกาย จึงเป็นผลช่วยรักษาภาวะที่อวัยวะต่างๆ และแขน ขา ขาดเลือดหล่อเลี้ยง การปรับการทำงาน ของอวัยวะเป็นแบบควบคุม 2 ทาง (Bi-direction regulation) กล่าวคือ หากอวัยวะใดทำงานมากเกินไปก็จะทำให้ลดลง อวัยวะใดทำงานน้อยไปก็จะปรับให้มากขึ้น เช่น การปวดประจำเดือน (Primary dysmenorrhea) ซึ่งเกิดการบีบรัดตัวที่รุนแรงของมดลูก การฝังเข็มจะทำให้มดลูกบีบตัวลดลง จึงช่วยลดอาการปวดได้ดี และในเดือนต่อไปก็จะปวดลดลงจนเป็นปกติ อาการท้องอืด โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดช่องท้อง เกิดจากการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ยังไม่ฟื้นตัว การฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารและลำไส้เริ่มทำงานใหม่ ทำให้อาการท้องอืดหายเร็วขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาในคนไข้แต่ละคนจะได้ผลดีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการฝังเข็มที่แตกต่างกัน ขึ้นกับระยะเวลาที่เป็นโรคนั้น หากเป็นเรื้อรังมานาน ผลก็จะไม่ดีเท่าผู้ที่เป็นมาไม่นาน ขึ้นอยู่กับชนิดโรคที่เป็นและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ผู้ที่อ่อนแอมาก อาจไม่ได้ประโยชน์มากจากการรักษา จึงควรปรึกษาแพทย์ หลังจากได้ศึกษาข้อมูลความรู้เรื่องการฝังเข็มอย่างดีแล้วก่อนตัดสินใจรักษาด้วยการฝังเข็ม
อุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาด้วยการฝังเข็ม
เข็มที่ใช้รักษาผู้ป่วยในอดีตมีเข็ม 9 ชนิดทำด้วยวัสดุหลายๆอย่าง ปัจจุบันนิยมใช้เข็มที่ทำด้วยสแตนเลสมีลักษณะปลายแหลมมีส่วนของตัวเข็มยาวพอประมาณและมีด้ามจับเป็นลวดพันไปจนสุดเข็ม เข็มที่ใช้รักษาผู้ป่วยนี้ จะมีความยาวและความหนาต่างๆกัน นอกจากนี้ยังมีเข็มขนาดเล็ก ความยาวของตัวเข็มประมาณ 3-6 มิลลิเมตร เข็มชนิดนี้ใช้ฝังติดตัวไว้ตลอดเวลา นอกจากการฝังเข็มด้วยเข็มดังกล่าวแล้ว ยังมีการรักษาร่วมกับการฝังเข็มโดยอุปกรณ์อื่นๆ ร่วม เช่น
การรมยา (Moxibustion หรือการเผาสมุนไพร)
วิธีนี้ใช้สมุนไพรโกศจุฬารัมภา ม้วนเป็นท่อนกลมเผาไฟแล้วรมบริเวณจุดฝังเข็ม หรือปั้นเป็นก้อนเล็กๆ วางไว้ตามจุดฝังเข็มต่างโดยใช้ขิงวางที่ผิวหนังเป็นฐานแล้วจุดไฟที่ปลายก้อนโกฐจนไฟลามถึงผิวหนังพอให้รู้สึกร้อนพอทนได้
การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า(Electro-acupuncture)
กระทำเช่นเดียวกับการฝังเข็มแต่การกระตุ้นจะใช้ไฟฟ้ากระตุ้น ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากในปัจจุบัน
การครอบกระปุก(Cupping)
การครอบกระปุกเป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระปุกมาลนไฟให้ร้อน เพื่อไล่อากาศออก จากนั้นจึงครอบกระปุกลงบนผิวหนัง ซึ่งจะมีแรงดูดจากสุญญากาศทำให้เกิดเลือดคั่งขึ้นในบริเวณนั้น วิธีการนี้มีมาแต่โบราณโดยใช้เขาสัตว์มาทำเป็นรูปกระปุก จากนั้นก็ปฏิบัติกันต่อมาโดยมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ทำเช่น กระเบื้อง โลหะ แก้ว
วิธีการฝังเข็ม
ภายหลังแพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการโรคเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะใช้เข็มที่ทำด้วยสแตนเลสไม่เป็นสนิมที่มีขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 - 10 เซนติเมตร ความยาวของเข็มจะขึ้นอยู่กับความหนา-บางของบริเวณที่จะลงเข็ม เข็มที่ใช้เป็นเข็มที่สะอาด ปลอดเชื้อ ทำความสะอาดผิวหนังด้วยยาฆ่าเชื้อโรค แล้วปักเข็มทะลุผิวหนังตรงจุดผังเข็มตามแนวเส้นลมปราณที่ตรงกับอาการของโรคให้ความลึกขนาดต่างๆกัน
ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยเมื่อเข็มผ่านผิวหนัง และจะหายเจ็บเมื่อถึงชั้นใต้ผิวหนังแล้ว เมื่อปลายเข็มเข้าไปอยู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อๆ หรือหนักๆ บริเวณโดยรอบจุดฝังเข็มนั้นๆ ซึ่งเรียกว่า “ (เต๋อชี่)” หลังจากนั้นแพทย์ใช้มือปั่นเข็มหรือกระแสไฟฟ้าศักดาต่ำๆ ต่อเข้ากับปลายด้ามจับเข็ม
การรักษาแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที ระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะอยู่ในท่าที่สบายที่สุด ดังนั้นการรักษาโดยวิธีฝังเข็มจึงช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย นับเป็นการช่วยทางด้านจิตใจทางหนึ่ง การรักษาควรทำซ้ำหลายครั้ง จำนวนครั้งของการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค โรคที่เป็นอย่างเฉียบพลันอาการจะดีขึ้นภายหลังการรักษา 1-3 ครั้ง ในรายที่มีอาการเรื้อรังต้องทำการรักษา ประมาณ 10-20 ครั้งจึงเห็นผล การรักษาจะกระทำทุกวัน หรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
อาการแทรกซ้อนจากการฝังเข็ม
1.การเป็นลม หรือหากไม่หมดสติเรียกว่า เมาเข็ม มักเกิดในขณะฝังเข็มหรือขณะคาเข็ม ส่วนมากพบในรายที่มาฝังเข็มเป็นครั้งแรก สาเหตุพื้นฐานที่อาจทำให้เกิดการเป็นลม ได้แก่ ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวมาก ตื่นเต้นมาก หิวหรืออิ่มมากเกินไป สภาพร่างกายอ่อนเพลียมาก
2.เลือดซึม ออกเล็กน้อยตามรูเข็ม พบได้บ่อยส่วนใหญ่เลือดที่ออกจะหยุดเองหรือโดยการกดไว้ชั่วครู่ และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ
เลือดออกเล็กน้อยใต้ผิวหนัง เกิดเป็นรอยช้ำ พบได้ในตำแหน่งที่มีเส้นเลือดฝอยมาก มักไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใดๆ รอยช้ำจางหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน
3. เข็มติด หรือเข็มหนืด คือหลังจากแทงเข็มลงไปแล้ว ดึงไม่ออก ดันเข็มไม่ลง หมุนซ้ายหมุนขวาไม่ได้ สาเหตุจากกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งบีบรัดเข็มอย่างรุนแรง ผู้ป่วยขยับเปลี่ยนท่าขณะที่มีเข็มคาอยู่
4.เข็มงอ มีอาการเหมือนเข็มติด สาเหตุเกิดจากขณะแทงเข็มใช้แรงดันมากเกินไป
หรืออาจแทงถูกเนื้อเยื่อที่แข็ง เช่นกระดูกหรือพังผืด แล้วออกแรงดัน เข็มจึงงอ
5. เข็มหัก มีโอกาสเกิดได้น้อยมาก เข็มหักมักเข็มงอก่อนแล้วจึงหัก ส่วนที่หักง่ายของเข็มคือคอเข็ม (รอยต่อระหว่างตัวเข็มกับด้ามเข็ม)
อาการแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้อย่างปลอดภัย
การปฏิบัติตัวและข้อควรระวังในการฝังเข็ม
แพทย์จะทำการวิเคราะห์โรคและปักเข็มลงในจุดที่มีผลในการรักษา โดยใช้เข็มที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จำเป็น ตามปกติจะไม่ใช้เข็มจำนวนมากในการรักษาแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บมากเกินไป
ผู้ป่วยควรมีความตั้งใจที่จะรับการรักษา และไม่ควรกังวลหรือกลัวมากเกินไป เช่น กลัวการติดเชื้อ ความเจ็บปวด นอกจากนั้นหากผู้ป่วยมีโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอันอาจติดต่อไปยังผู้อื่นได้ หรือมีโรคประจำตัว มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ/การหายใจ โรคลมชัก ตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบก่อนลงมือรักษา
ปัจจุบันการให้บริการฝังเข็มในประเทศไทยจะใช้เข็มครั้งเดียวแล้วทำลายไม่กลับมาใช้อีก
การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนและหลังรับการรักษาด้วยการฝังเข็ม
1.การเตรียมตัวก่อนการรักษา
2.นอนหลับให้เต็มที่ในคืนก่อนมารับการฝังเข็ม
3.ควรรับประทานอาหารก่อนมารับการรักษา แต่อย่าให้อิ่มเกินไป
4.สวมเสื้อผ้าหลวมๆ สบายๆ เพื่อความสะดวกในการฝังเข็ม
ระหว่างการปักเข็มผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึกได้ 2 แบบ ดังนี้
1.1 รู้สึกหนักๆ หน่วง ๆ ตื้อๆ ในจุดฝังเข็มในระหว่างที่เข็มปักคาอยู่
1.2 มีความรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าแล่นแปลบๆ ไปตามเส้นลมปราณ เนื่องจากแพทย์จะปักเข็มไว้ข้างๆเส้นประสาทบางเส้น เพื่อผลการรักษาที่ดีแพทย์จะปักเข็มไว้ประมาณ 20-30 นาที โดยอาจกระตุ้นด้วยมือหรือกระแสไฟฟ้า (ไฟฟ้าที่ใช้มีต่างศักย์ต่ำ จึงไม่มีโอกาสเกิดไฟซ๊อตจนเกิดอันตราย) จากนั้นจะถอนเข็มออก ในระหว่างการคาเข็ม ผู้ป่วยต้องพยายามอย่าขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ฝังเข็มเพราะเข็มจะบิดในกล้ามเนื้อ แม้ไม่เกิดอันตรายแต่อาจทำให้เจ็บมากขึ้นและมีเลือดออกตอนถอนเข็ม ผู้ป่วยสามารถขยับตัวได้บ้างเล็กน้อย พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อจะสบายที่สุด แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่นรู้สึกหวิวๆ หน้ามืดจะเป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ให้แจ้งแพทย์ที่รักษาทราบทันที
2. การดูแลตนเองหลังจากการฝังเข็ม
2.1 ควรดื่มน้ำอุ่นหลังการฝังเข็ม
2.2 สำรวจร่างกายตนเองบริเวณฝังเข็ม ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออก มีรอยบวม รู้สึกเจ็บปวด ต้องแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบทันทีเพื่อแก้ไขให้เป็นปกติก่อนกลับบ้าน
2.3 งดการอาบน้ำเป็นเวลา 2 ชั่วโมงหลังการฝังเข็ม
2.4 พักผ่อนให้เต็มที่อีก 1 วัน
2.5 ถ้าไม่มีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ตามปกติ อาการจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมงโดยไม่มีอันตรายใดๆ
3.ข้อควรระวังในการฝังเข็ม
3.1 ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ต้องให้การรักษาอย่างระมัดระวัง
3.2 ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน)
3.3 ผู้ป่วยโรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด
3.4 ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
3.5 โรคที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างแน่นอน