การฝังเข็ม

  • การฝังเข็มคืออะไร
  • การฝังเข็มเป็นเวชกรรมที่มีประวัติการค้นคว้า และแพร่หลายมาหลายพันปี การฝังเข็มคือวิธีการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการฝังเข็มปักเข้าไปยังตำแหน่งต่างๆ ของร่างกายในตำแหน่งที่เป็นจุดเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษา 2 ส่วนได้แก่
  • 1. เพื่อปรับสมดุลของร่างกายเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวขึ้น ช่วยให้อวัยวะและระบบการทำงานต่างๆ ของร่างกายกลับทำงานได้ตามปกติ ด้วยพลังธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต จึงนับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดี
  • 2. การฝังเข็มสามารถช่วย “ระงับความเจ็บปวด” จึงมักนำไปใช้ในการรักษาโรคปวดต่างๆ หรือใช้ในการผ่าตัด ปัจจุบันมีการนำการฝังเข็มไปใช้ในการป้องกันโรค นอกจากนี้ยังมีวิทยาการอื่นๆ อีกที่เกี่ยวกับศาสตร์การฝังเข็ม และมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางได้แก่ การนวดกดจุด การรมยา การใช้เครื่องกระตุ้น เป็นต้น การฝังเข็มเกิดผลในการรักษาอย่างไร
  • 1.เกิดการหลั่งสารต่างๆ ในร่างกายในระบบ Neuro – endocrine และ Cytokine หลายชนิด ฮอร์โมนบางอย่าง เช่น Steroid,Endorphin,Serotonin และ Neurotransmitter ต่างๆ การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เกิดทั้งในระบบประสาทส่วนกลาง ระบบประสาทส่วนปลาย และกลไกของร่างกายทั้งหมด ทำให้เกิดฤทธิ์ระงับความเจ็บปวด ลดการอักเสบ ลดการเกร็งของกล้ามเนื้อ ปรับปรุงการทำงานของระบบประสาท และสมอง ทำให้จิตอารมณ์แจ่มใส สารเหล่านี้เป็นสิ่งที่มีอยู่เป็นปกติในร่างกายตามธรรมชาติ จึงแตกต่างจากการใช้ยาที่เรารับประทานหรือฉีดเข้าร่างกาย เพราะไม่มีพิษไม่มีผลแทรกซ้อน ที่สำคัญร่างกายมีกลไกในการควบคุมอีกชั้นหนึ่ง (Negative feedback) จึงไม่มีโอกาสหลั่งสารออกมาจนเกินขนาด
  • 2. เกิดการกระตุ้นให้มีการปรับตัวของระบบประสาทอัตโนมัติซึ่งควบคุมเส้นเลือดและการทำงานของอวัยวะภายในทั่วร่างกาย จึงเป็นผลช่วยรักษาภาวะที่อวัยวะต่างๆ และแขน ขา ขาดเลือดหล่อเลี้ยง การปรับการทำงาน ของอวัยวะเป็นแบบควบคุม 2 ทาง (Bi-direction regulation) กล่าวคือ หากอวัยวะใดทำงานมากเกินไปก็จะทำให้ลดลง อวัยวะใดทำงานน้อยไปก็จะปรับให้มากขึ้น เช่น การปวดประจำเดือน (Primary dysmenorrhea) ซึ่งเกิดการบีบรัดตัวที่รุนแรงของมดลูก การฝังเข็มจะทำให้มดลูกบีบตัวลดลง จึงช่วยลดอาการปวดได้ดี และในเดือนต่อไปก็จะปวดลดลงจนเป็นปกติ อาการท้องอืด โดยเฉพาะหลังการผ่าตัดช่องท้อง เกิดจากการทำงานของกระเพาะอาหารและลำไส้ยังไม่ฟื้นตัว การฝังเข็มจะช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารและลำไส้เริ่มทำงานใหม่ ทำให้อาการท้องอืดหายเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผลการรักษาในคนไข้แต่ละคนจะได้ผลดีไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อการฝังเข็มที่แตกต่างกัน ขึ้นกับระยะเวลาที่เป็นโรคนั้น หากเป็นเรื้อรังมานาน ผลก็จะไม่ดีเท่าผู้ที่เป็นมาไม่นาน ขึ้นอยู่กับชนิดโรคที่เป็นและสภาพร่างกายของผู้ป่วย ผู้ที่อ่อนแอมาก อาจไม่ได้ประโยชน์มากจากการรักษา จึงควรปรึกษาแพทย์ หลังจากได้ศึกษาข้อมูลความรู้เรื่องการฝังเข็มอย่างดีแล้วก่อนตัดสินใจรักษาด้วยการฝังเข็ม
  • อุปกรณ์ที่ใช้ในการรักษาด้วยการฝังเข็ม เข็มที่ใช้รักษาผู้ป่วยในอดีตมีเข็ม 9 ชนิดทำด้วยวัสดุหลายๆอย่าง ปัจจุบันนิยมใช้เข็มที่ทำด้วยสแตนเลสมีลักษณะปลายแหลมมีส่วนของตัวเข็มยาวพอประมาณและมีด้ามจับเป็นลวดพันไปจนสุดเข็ม เข็มที่ใช้รักษาผู้ป่วยนี้ จะมีความยาวและความหนาต่างๆกัน นอกจากนี้ยังมีเข็มขนาดเล็ก ความยาวของตัวเข็มประมาณ 3-6 มิลลิเมตร เข็มชนิดนี้ใช้ฝังติดตัวไว้ตลอดเวลา นอกจากการฝังเข็มด้วยเข็มดังกล่าวแล้ว ยังมีการรักษาร่วมกับการฝังเข็มโดยอุปกรณ์อื่นๆ ร่วม เช่น การรมยา (Moxibustion หรือการเผาสมุนไพร) วิธีนี้ใช้สมุนไพรโกศจุฬารัมภา ม้วนเป็นท่อนกลมเผาไฟแล้วรมบริเวณจุดฝังเข็ม หรือปั้นเป็นก้อนเล็กๆ วางไว้ตามจุดฝังเข็มต่างโดยใช้ขิงวางที่ผิวหนังเป็นฐานแล้วจุดไฟที่ปลายก้อนโกฐจนไฟลามถึงผิวหนังพอให้รู้สึกร้อนพอทนได้ การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า(Electro-acupuncture) กระทำเช่นเดียวกับการฝังเข็มแต่การกระตุ้นจะใช้ไฟฟ้ากระตุ้น ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมมากในปัจจุบัน การครอบกระปุก(Cupping) การครอบกระปุกเป็นวิธีการรักษาโดยใช้กระปุกมาลนไฟให้ร้อน เพื่อไล่อากาศออก จากนั้นจึงครอบกระปุกลงบนผิวหนัง ซึ่งจะมีแรงดูดจากสุญญากาศทำให้เกิดเลือดคั่งขึ้นในบริเวณนั้น วิธีการนี้มีมาแต่โบราณโดยใช้เขาสัตว์มาทำเป็นรูปกระปุก จากนั้นก็ปฏิบัติกันต่อมาโดยมีการเปลี่ยนแปลงวัสดุที่ใช้ทำเช่น กระเบื้อง โลหะ แก้ว วิธีการฝังเข็ม ภายหลังแพทย์ตรวจวินิจฉัยอาการโรคเรียบร้อยแล้ว แพทย์จะใช้เข็มที่ทำด้วยสแตนเลสไม่เป็นสนิมที่มีขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 - 10 เซนติเมตร ความยาวของเข็มจะขึ้นอยู่กับความหนา-บางของบริเวณที่จะลงเข็ม เข็มที่ใช้เป็นเข็มที่สะอาด ปลอดเชื้อ ทำความสะอาดผิวหนังด้วยยาฆ่าเชื้อโรค แล้วปักเข็มทะลุผิวหนังตรงจุดผังเข็มตามแนวเส้นลมปราณที่ตรงกับอาการของโรคให้ความลึกขนาดต่างๆกัน ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บเล็กน้อยเมื่อเข็มผ่านผิวหนัง และจะหายเจ็บเมื่อถึงชั้นใต้ผิวหนังแล้ว เมื่อปลายเข็มเข้าไปอยู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อๆ หรือหนักๆ บริเวณโดยรอบจุดฝังเข็มนั้นๆ ซึ่งเรียกว่า “ (เต๋อชี่)” หลังจากนั้นแพทย์ใช้มือปั่นเข็มหรือกระแสไฟฟ้าศักดาต่ำๆ ต่อเข้ากับปลายด้ามจับเข็ม การรักษาแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20 - 30 นาที ระหว่างการรักษาผู้ป่วยจะอยู่ในท่าที่สบายที่สุด ดังนั้นการรักษาโดยวิธีฝังเข็มจึงช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจและผ่อนคลาย นับเป็นการช่วยทางด้านจิตใจทางหนึ่ง การรักษาควรทำซ้ำหลายครั้ง จำนวนครั้งของการรักษาขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของโรค โรคที่เป็นอย่างเฉียบพลันอาการจะดีขึ้นภายหลังการรักษา 1-3 ครั้ง ในรายที่มีอาการเรื้อรังต้องทำการรักษา ประมาณ 10-20 ครั้งจึงเห็นผล การรักษาจะกระทำทุกวัน หรือ 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
  • อาการแทรกซ้อนจากการฝังเข็ม
  • 1.การเป็นลม หรือหากไม่หมดสติเรียกว่า เมาเข็ม มักเกิดในขณะฝังเข็มหรือขณะคาเข็ม ส่วนมากพบในรายที่มาฝังเข็มเป็นครั้งแรก สาเหตุพื้นฐานที่อาจทำให้เกิดการเป็นลม ได้แก่ ตื่นตระหนกหรือหวาดกลัวมาก ตื่นเต้นมาก หิวหรืออิ่มมากเกินไป สภาพร่างกายอ่อนเพลียมาก
  • 2.เลือดซึม ออกเล็กน้อยตามรูเข็ม พบได้บ่อยส่วนใหญ่เลือดที่ออกจะหยุดเองหรือโดยการกดไว้ชั่วครู่ และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ เลือดออกเล็กน้อยใต้ผิวหนัง เกิดเป็นรอยช้ำ พบได้ในตำแหน่งที่มีเส้นเลือดฝอยมาก มักไม่มีอันตรายหรือผลข้างเคียงใดๆ รอยช้ำจางหายได้เองในเวลาไม่กี่วัน
  • 3. เข็มติด หรือเข็มหนืด คือหลังจากแทงเข็มลงไปแล้ว ดึงไม่ออก ดันเข็มไม่ลง หมุนซ้ายหมุนขวาไม่ได้ สาเหตุจากกล้ามเนื้อเกิดการหดเกร็งบีบรัดเข็มอย่างรุนแรง ผู้ป่วยขยับเปลี่ยนท่าขณะที่มีเข็มคาอยู่
  • 4.เข็มงอ มีอาการเหมือนเข็มติด สาเหตุเกิดจากขณะแทงเข็มใช้แรงดันมากเกินไป หรืออาจแทงถูกเนื้อเยื่อที่แข็ง เช่นกระดูกหรือพังผืด แล้วออกแรงดัน เข็มจึงงอ
  • 5. เข็มหัก มีโอกาสเกิดได้น้อยมาก เข็มหักมักเข็มงอก่อนแล้วจึงหัก ส่วนที่หักง่ายของเข็มคือคอเข็ม (รอยต่อระหว่างตัวเข็มกับด้ามเข็ม) อาการแทรกซ้อนต่างๆ ดังกล่าวสามารถป้องกันและแก้ไขได้อย่างปลอดภัย
  • การปฏิบัติตัวและข้อควรระวังในการฝังเข็ม แพทย์จะทำการวิเคราะห์โรคและปักเข็มลงในจุดที่มีผลในการรักษา โดยใช้เข็มที่มีขนาดเล็กที่สุดเท่าที่จำเป็น ตามปกติจะไม่ใช้เข็มจำนวนมากในการรักษาแต่ละครั้ง เพื่อไม่ให้ผู้ป่วยเจ็บมากเกินไป ผู้ป่วยควรมีความตั้งใจที่จะรับการรักษา และไม่ควรกังวลหรือกลัวมากเกินไป เช่น กลัวการติดเชื้อ ความเจ็บปวด นอกจากนั้นหากผู้ป่วยมีโรคติดเชื้อรุนแรง เช่น โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องอันอาจติดต่อไปยังผู้อื่นได้ หรือมีโรคประจำตัว มีเครื่องกระตุ้นหัวใจ/การหายใจ โรคลมชัก ตั้งครรภ์ ต้องแจ้งให้แพทย์ที่ทำการรักษาทราบก่อนลงมือรักษา ปัจจุบันการให้บริการฝังเข็มในประเทศไทยจะใช้เข็มครั้งเดียวแล้วทำลายไม่กลับมาใช้อีก
  •   การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนและหลังรับการรักษาด้วยการฝังเข็ม
  • 1.การเตรียมตัวก่อนการรักษา
  • 2.นอนหลับให้เต็มที่ในคืนก่อนมารับการฝังเข็ม
  • 3.ควรรับประทานอาหารก่อนมารับการรักษา แต่อย่าให้อิ่มเกินไป
  • 4.สวมเสื้อผ้าหลวมๆ สบายๆ เพื่อความสะดวกในการฝังเข็ม
  • ระหว่างการปักเข็มผู้ป่วยอาจเกิดความรู้สึกได้ 2 แบบ ดังนี้
  • 1.1 รู้สึกหนักๆ หน่วง ๆ ตื้อๆ ในจุดฝังเข็มในระหว่างที่เข็มปักคาอยู่
  • 1.2 มีความรู้สึกเหมือนมีกระแสไฟฟ้าแล่นแปลบๆ ไปตามเส้นลมปราณ เนื่องจากแพทย์จะปักเข็มไว้ข้างๆเส้นประสาทบางเส้น เพื่อผลการรักษาที่ดีแพทย์จะปักเข็มไว้ประมาณ 20-30 นาที โดยอาจกระตุ้นด้วยมือหรือกระแสไฟฟ้า (ไฟฟ้าที่ใช้มีต่างศักย์ต่ำ จึงไม่มีโอกาสเกิดไฟซ๊อตจนเกิดอันตราย) จากนั้นจะถอนเข็มออก ในระหว่างการคาเข็ม ผู้ป่วยต้องพยายามอย่าขยับกล้ามเนื้อบริเวณที่ฝังเข็มเพราะเข็มจะบิดในกล้ามเนื้อ แม้ไม่เกิดอันตรายแต่อาจทำให้เจ็บมากขึ้นและมีเลือดออกตอนถอนเข็ม ผู้ป่วยสามารถขยับตัวได้บ้างเล็กน้อย พยายามผ่อนคลายกล้ามเนื้อจะสบายที่สุด แต่ถ้าหากมีอาการผิดปกติใดๆ เช่นรู้สึกหวิวๆ หน้ามืดจะเป็นลม แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ให้แจ้งแพทย์ที่รักษาทราบทันที
  • 2. การดูแลตนเองหลังจากการฝังเข็ม
  • 2.1 ควรดื่มน้ำอุ่นหลังการฝังเข็ม
  • 2.2 สำรวจร่างกายตนเองบริเวณฝังเข็ม ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น เช่น มีเลือดออก มีรอยบวม รู้สึกเจ็บปวด ต้องแจ้งให้แพทย์ที่รักษาทราบทันทีเพื่อแก้ไขให้เป็นปกติก่อนกลับบ้าน
  • 2.3 งดการอาบน้ำเป็นเวลา 2 ชั่วโมงหลังการฝังเข็ม
  • 2.4 พักผ่อนให้เต็มที่อีก 1 วัน
  • 2.5 ถ้าไม่มีไข้ให้รับประทานยาลดไข้ตามปกติ อาการจะหายไปเองภายใน 24-48 ชั่วโมงโดยไม่มีอันตรายใดๆ
  • 3.ข้อควรระวังในการฝังเข็ม
  • 3.1 ผู้ป่วยที่อยู่ในระหว่างตั้งครรภ์ต้องให้การรักษาอย่างระมัดระวัง
  • 3.2 ผู้ป่วยโรคมะเร็ง (ที่ยังไม่ได้รับการตรวจรักษาด้วยการแพทย์แผนปัจจุบัน)
  • 3.3 ผู้ป่วยโรคเลือดที่มีความผิดปกติของระบบการแข็งตัวของเลือด
  • 3.4 ผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยการผ่าตัด
  • 3.5 โรคที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัยอย่างแน่นอน
 

ขั้นตอนการรักษา โรคด้วยการฝังเข็ม

เมื่อตัดสินใจรักษาโรคด้วยการฝังเข็มแล้วจะต้องพบกับอะไรบ้าง? ผู้ป่วยบางคนนึกในใจว่า คงจะถูกหมอเอาเข็มฝังเข้าไปไว้ในตัวเหมือนกับพิธีไสยศาสตร์ที่เสกตะปูใส่ในท้อง บางคคนอาจาคิดว่า คงจะเอาเข็มฝังไว้ใต้ผิวหนังที่แขน เหมือนกับการฝังยาฮอร์โมนคุมกำเนิดของผู้หญิง?นี่เป็นตัวอย่างของความเข้าใจผิดของผู้ป่วยที่มีต่อการฝังเข็ม เวชกรรมฝังเข็มเป็นศาสตร์สำหรับรักษาโรคอย่างหนึ่ง จึงต้องมีวิธีการที่เป็นลำดับขั้นตอนอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ การรักษาจึงจะได้ผล ผู้ป่วยจึงจะหายจากโรค ถ้าหากขั้นตอนการรักษาไม่ครบหรือไม่เป็นไปตามลำดับ ผลการรักษาย่อมจะดีหรือกระทั่งอาจเกิดอันตรายขึ้นได้ กล่าวสำหรับผู้ป่วยแล้ว การที่ได้ทราบถึงขั้นตอนและวิธีการรักษาล่วงหน้า ย่อมจะช่วยลดความกังวลใจหรือความตื่นเต้นหวาดกลัวลงไปได้ ถ้าหากผู้ป่วยสามารถประสานให้ความร่วมมือกับแพทย์ได้ดี กระบวนการรักษาก็จะสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น การรักษาย่อมจะปรากฏผลออกมาในทางที่ดีเสมอ ขั้นตอนและวิธีการรักษาโรคด้วยการฝังเข็ม มีดังต่อไปนี้ ขั้นตอนที่ 1 วินิจฉัยโรค เมื่อผู้ป่วยมาหา แพทย์จะทำการซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยเพื่อทำการวินิจฉัยอาการและโรคเสียก่อนว่า ผู้ป่วยป่วยด้วยโรคอะไร มีอาการเจ็บปวดไม่สบายอะไรบ้าง อาการไหนเป็นอาการหลักที่สำคัญ อันไหนเป็นอาการรอง อาการไหนต้องรักษาก่อน อาการไหนค่อยรักษาทีหลัง มีโรคแทรกซ้อนอะไรบ้างหรือไม่ มีโรคอื่น ๆ ร่วมด้วยหรือไม่ เป็นต้น ขั้นตอนที่ 2 กำหนดแผนการรักษา เมื่อวินิจฉัยอาการและโรคแล้ว แพทย์ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการรักษาเช่น จะต้องกำหนดเลือกจุดปักเข็มว่าจะใช้จุดอะไรบ้าง ตำแหน่งตรงไหน ใช้กี่จุด จุดไหนเป็นจุดหลักที่จะต้องปักทุกครั้ง จุดไหนเป็นจุดรองที่จะใช้ปักเป็นบางครั้งเหมือนกับแพทย์แผนปัจจุบันที่จะต้องเขียนใบสั่งยา (prescription) ว่าจะใช้ยากี่ตัว มีอะไรบ้าง รับประทานครั้งละกี่เม็ด วันละกี่เวลา เป็นต้น ขั้นตอนที่ 3 จัดท่าผู้ป่วย แพทย์จะจัดท่าผู้ป่วยให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมกับการปักเข็ม เช่น ใช้ท่านอนคว่ำเมื่อจะตั้องปักเข็มบริเวณหลังหรือเอว ใช้ท่านอนหงายเมื่อจะต้องปักเข็มบริเวณใบหน้า หน้าท้อง แขนขา ใช้ท่านั่งในกรณีต้องปักเข็มบริเวณต้นคอหรือท้ายทอย และในบางครั้งอาจต้องใช้ท่าตะแคง เป็นต้น ขั้นตอนที่ 4 ปักเข็ม แพทย์จะใช้น้ำยาฆ่าเชื้อโรคทำความสะอาดบริเวณผิวหนัง แล้วใช้เข็มเล็ก ๆ ที่ปราศจากเชื้อ ปักลงไปบนจุดฝังเข็มที่กำนหดเอาไว้ในแผนการรักษา การปักเข็มจะต้องปักผ่านชั้นผิวหนังอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บมากนัก ขณะที่เข็มปักผ่านผิวหนัง ผู้ป่วยอาจจะรุ้สึกเจ็บเล็กน้อยเหมือนถูก “มดกัด” หรือคล้ายกับถูกฉีดยา (แต่จะเจ็บน้อยกว่าฉีดยามาก) ความเจ็บปวดขณะปักเข็มจะมีมากน้อยแค่ไหนนั้น ขึ้นอยู่กับฝีมือของแพทย์ผู้รักษาว่าชำนาญหรือไม่เป็นสำคัญ แพทย์ที่มีความชำนาญมาก ย่อมปักเข็มได้คล่องแคล่วแม่นยำ ความรู้สึกเจ็บปวดของผู้ป่วยก็น้อยลง ก่อนฝังเข็ม ผู้ป่วยบางคนอาจขอร้องให้แพทย์ฉีดยาชา เพื่อระงับความเจ็บปวดเสียก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็นเลย เหตุผลมีอยู่ว่า ประการแรก การถูกฉีดยาชาเจ็บปวดมากกว่าการปักเข็มเสียอีก หากต้องปักเข็มหลาย ๆ จุด ผู้ป่วยก็จะเจ็บตัวมากขึ้นโดยเปล่าประโยชน์ ประการที่สอง ซึ่งสำคัญมากนั่นคือ ยาชาไม่เพียงแต่ยับยั้งความรู้สึกเจ็บปวดเท่านั้น แต่มันยังยับยั้งการส่งสัญญารณประสาทอื่น ๆ อีกด้วย รวมทั้งสัญญาณประสาทจากการกระตุ้นด้วยการฝังเข็ม ฤทธิ์รักษาโรคของการฝังเข็มก็จะลดลงหรือไม่มีเลย เพราะปลายประสาทไม่ถูกกระตุ้นนั่นเอง ความลึกของเข็มที่ปักลงไปนั้นจะแตกต่างกันไป ในแต่ละตำแหน่งของจุดฝังเข็ม ตัวอย่างเช่น บริเวณใบหน้าจะปักเข็มลึกประมาณ 0.5-1.0 เซนติเมตร บริเวณหลังหรือแขนขาอาจปักลึกประมาณ 2-3 เซนติเมตร ส่วนบริเวณสะโพก อาจปักลึกถึง 10 เซนติเมตรก็มี รูปร่างของผู้ป่วยก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะกำหนดความลึกของเข็มที่ปัก คนที่มีรูปร่างอ้วน ชั้นไขมันที่อยู่ใต้ผิวหนังจะหนา เข็มที่ปักลงไปก็ต้องลึกมากกว่าคนที่มีรูปร่างผอม แต่สิ่งที่แพทย์จะคำนึงถึงมากที่สุดคือ เข็มต้องปักลงไปให้ลึกพอ จนถึงจุดที่จะทำให้เกิด “ความรู้สึกได้ลมปราณ” โดยที่ผู้ป่วยจะรู้สึกตื้อ ๆ หนัก ๆ หรือเสียวบริเวณที่ถูกเข็มปัก แพทย์ผู้ปักเข็มเองก็จะรู้สึกได้ว่าเข็มถูกใยกล้ามเนื้อหนียบรัดไวแน่นหนึบ ๆ ซึ่งตำราแพทย์จีนในสมัยโบราณ บรรยายว่า เป็นความรู้สึกแน่นหนึบ ๆ เหมือน “เบ็ดถูกปลาตอด” บางครั้งความรู้สึกดังกล่าวอาจแผ่เคลื่อนที่ไปตามแนวทางเดินเส้นลมปราณก็ได้ ผลการรักษาขึ้นอยู่กับว่า ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกได้ลมปราณหรือไม่เป็นอย่างมาก ถ้าปักตรงจุดแล้ว “ได้ลมปราณ” เกิดขึ้น การรักษาจึงจะได้ผลดี ยิ่งรู้สึกว่าลมปราณมีการเคลื่อนที่ออกไปได้ ผลการรักษาก็จะยิ่งดีมากที่สุด ถ้าปักเข็มไปแล้วผู้ป่วยไม่รู้สึกอะไรเลย ผู้ปักเข็มรู้สึกโล่ง ๆ เหมือนกับปักเข็มทะลุแผ่นกระดาษ คาดได้เลยว่าผลการรักษาจะไม่ดีเท่าที่ควร เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่า “ความรู้สึกได้ลมปราณ” เป็นสิ่งบอกให้ทราบว่าเข็มถูกปักลงไปได้ตรงกับบริเวณตัวรัสัญญาณประสาท (receptor) ทำให้เกิดสัญญาณประสาท เพื่อไปกระตุ้นกลไกระบบประสาทและระบบฮอร์โมนต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง ขั้นตอนที่ 5 กระตุ้นเข็ม บางครั้งเมื่อปักเข็มแล้ว ความรู้สึกได้ลมปราณจะไม่เกิดทันที ต้องอาศัยการกระตุ้นเข็มมช่วยสักครู่หนึ่ง ลมปราณถึงจะเกิดขึ้นได้ การกระตุ้นเข็มมี 2 แบบใหญ่ ๆ คือ กระตุ้นด้วยการใช้มือหมุนปั่นเข็มไปทางซ้ายขวาหรือปักและดึงเข็มขึ้นลงสลับกัน ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการ “แบบฉบับ” ของเวชกรรมฝังเข็มแบบจีนจริง ๆ โดยทั่วไปแพทย์จะทำการกระตุ้นอยู่ประมาณ 1 นาที เป็นระยะ ๆ ทุก 5-10 นาที รวมเวลาที่กระตุ้นเข็มทั้งหมดประมาณ 20-30 นาที ส่วนการกระตุ้นอีกแบบนั้น นิยมใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า (stimulator) ต่อสายไฟติดกับเข็ม แล้วเปิดเครื่องกระตุ้น ผู้ป่วยจะรุ้สึกว่ากล้ามเนื้อบริเวณที่ปักเข็มกระตุกเบา ๆ เป็นจังหวะสม่ำเสมอ การกระตุ้นแบบนี้จะไม่มีความรู้สึกได้ลมปราณชัดเจนเท่ากับแบบแรก เหมาะสำหรับในกรณีที่ผู้ป่วยมีจำนวนมาก และแพทย์ไม่มีเวลามากระตุ้นเข็มให้ผู้ป่วยทีละคนได้ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้ป่วยมีร่างกายอ่อนแอ ไม่เหมาะกับการถูกกระตุ้นแรง แพทย์อาจปักเข็มคาเอาไว้เฉย ๆ หรือกระตุ้นเข็มเบา ๆ เท่านั้น สรุปแล้วขั้นตอนนี้จะใช้เวลาปักเข็มคาเอาไว้ประมาณ 20-30 นาที ขั้นตอนที่ 6 ถอนเข็ม เมื่อกระตุ้นเข็ม ครบตามเวลาที่กำหนด แพทย์ก็จะถอนเข็มออกทั้งหมด โดยไม่มีการ “ฝัง” เข็มเอาไว้ในร่างกายแต่อย่างไรเลย (ยกเว้นเข็มบางชนิด อาจติดคาเอาไว้เป็นเวลานานหลายวัน เช่น เข็มใต้ผิวหนัง เข็มหู เป็นต้น ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษออกไป) จากนั้นจึงเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการรักษาในครั้งนั้น ๆ โดยทั่วไปแล้ว การรักษาจะทำวันละ 1 ครั้ง ทุกวันหรือวันเว้นวันหรือสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง cแล้วแต่สภาพของโรคและตัวผู้ป่วย โรคบางอย่างเช่น โรคอัมพาตที่มีอาการหนัก อาจต้องฝังเข็มรักษาวันละ 2 ครั้งก็มี การรักษาจะทำติดต่อกันประมาณ 7-10 ครั้ง แล้วหยุดพัก 5-7 วัน เรกว่าเป็น “ชุดของการรักษา” (course) โรคที่เป็นมาไม่นานอาจรักษาเพียงชุดเดียวก็หายขาด แต่โรคที่เป็นเรื้อรังมานานหรือโรคที่ซักซ้อน อาจต้องรักษาติดต่อกันหลายชุดก็ได้ หลังการรักษาแต่ละครั้ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารถกลับไปทำงานหรือเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวันได้ตามปกติ บางคนอาจมีอาการล้าปวดเมื่อยตามตัวได้บ้างเล็กน้อย ซึ่งถือเป็นอาการปกติและมักจะหายไปได้เองในวันสองวันต่อมา การฝังเข็มไม่มีแสลงกับอาการใด ๆ เลย ผู้มารับการรักษาสามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติของแต่ละคน วิธีการรักษาที่กล่าวมาข้างต้นนั้น เป็นขั้นตอนการรักษาด้วยเข็มที่มีลักษณะเป็นเส้นลวดเล็ก ๆ ซึ่งเรียกว่า เข็มเส้นขน (filiform needle) อันเป็นเข็มที่นิยมใช้กันมากที่สุด นอกจากนี้ยังมีเข็มแบบอื่น ๆ อีก เช่น เข็มหู เข็มผิวหนัง เข็มไฟ ซึ่งจะมีรายละเอียดการรักษาต่างออกไปบ้าง แต่ขั้นตอนโดยหลัก ๆ ก็ยังเป็นดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นั่นเอง